อุบัติเหตุขึ้น-ลงเขาป่าตอง ความสูญเสียยากประเมินค่า
กรณีการเกิดอุบัติเหตุรถบัสนำเที่ยวพลิกคว่ำทางขึ้น-ลงเขาป่าตอง จะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่รับทราบกันเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่เรื่องดังกล่าวอาศัยเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงไม่พอ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการนำเที่ยวและผู้ประกอบการรถบัสขนส่งด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะกระทบกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่ใช้ยวดยานสัญจรไปมา และที่ลืมไม่ได้ คือ ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเส้นทางดังกล่าว เพราะหลายรายได้รับผลกระทบบ่อยครั้ง นอกจากผลกระทบด้านจิตใจแล้ว ยังมีเรื่องของกำลังทรัพย์ที่ต้องมาซ่อมแซมบ้านเรือนหรือทรัพย์สินที่เสียหาย แม้จะได้รับการเยียวยาแต่เชื่อว่าคงไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป
ล่าสุดกับเหตุการณ์รถบัสบรรทุกนักท่องเที่ยวชาวจีนพลิกคว่ำบริเวณทางลงเขาป่าตองบริเวณข้างวัดสุวรรณคีรีวงศ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตคาที่ 1 ราย เป็นเด็กชายอายุเพียง 10 ขวบ สำหรับครอบครัวนับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และต่อมาก็เกิดเรื่องเศร้าอีกเมื่อพ่อของเด็กคนดังกล่าวมาเสียชีวิตตามไปด้วย ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บและความเสียหายอื่นๆ อีก แม้ว่าจะไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น แต่การที่มันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และความสูญเสียที่ตามมาซึ่งยากจะประเมินค่าได้ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หรือครั้งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ก็เกิดขึ้นในจุดใกล้เคียงกัน ครั้งนั้นผู้เสียชีวิตเป็นหญิงไทย ถามว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นดังกล่าวใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และรับผิดชอบไหวหรือไม่ คำขอโทษเป็นเพียงน้ำคำที่ปลอบใจ ขณะที่การเยียวยาก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก โดยเฉพาะสภาพจิตใจของคนที่เหลืออยู่ กรณีที่มีมาเป็นครอบครัว ขออนุญาตยกเหตุการณ์ล่าสุด เพราะพึ่งเกิดสดๆ ร้อน อย่างเช่นกรณีของน้องวัยสิบขวบ คนเป็นแม่จะอยู่อย่างไรเมื่อต้องเสียทั้งลูกและสามีไป
หลังจากเกิดเหตุหน่วยงานต่างๆ ก็เต้นเป็นเจ้าเข้าเรียกประชุมหน่วยงานรับผิดชอบโน่นนั่นนี่ พอเรื่องเงียบทุกอย่างก็เงียบกริบ เพราะคนที่สูญเสียไม่ใช่คนในครอบครัวของตัวเอง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ออกมาพูดกันเพื่อให้เห็นว่าเราได้แสดงความรับผิดชอบแล้วนะ และทุกอย่างก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการก็ยังคงเลือกใช้รถที่ไม่ได้คุณภาพ คนขับก็ยังขาดความชำนาญในเส้นทาง และอีกมากมาย ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ขาดความเข้มแข็งในการจัดการ เพราะเมื่อเข้มงวดมากก็มักจะถูกโจมตีผ่านทางโซเซียล หากไม่ทำอะไรเมื่อเกิดเหตุก็ต้องรับคำต่อว่ากันไป ซึ่งก็ยังหาจุดลงตัวไม่ได้
ส่วนกรณีของโครงการสร้างอุโมงค์ทางลอดข้ามเขาป่าตองจากพื้นที่กะทู้-ไปยังป่าตอง ซึ่งมีการพยายามกันมาเป็นเวลานาน จากงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ไม่กี่ล้านบาท จนครั้งล่าสุดนับสิบล้านบาท ยังไม่รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ หลายคนก็ยังคงมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะการลงทุน ณ ปัจจุบันที่ตัวเลขค่อนข้างสูงมาก ไหนจะปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัญหาผลกระทบกับชุมชน แม้ภาครัฐจะยืนยันว่าสร้างแน่นอน แต่ถามว่า เมื่อไร และจะต้องสูญเสียอีกมากน้อยเพียงใด
สุดท้ายสาเหตุของปัญหาอุบัติเหตุการขึ้นลงเขาป่าตอง ทุกฝ่ายรับทราบกันเป็นอย่างดี และเชื่อว่าก็พยายามที่จะแก้ปัญหาอยู่ แต่ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ภาครัฐทำลำพังไม่ได้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราคงไม่ต้องการหรือได้ยินใครมากล่าวหาว่า “ภูเก็ตเป็นสุสานของนักท่องเที่ยว” เพราะคงไม่มีใครรับได้ และหากเป็นเช่นนั้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักก็จะกระทบกันไปทั้งหมด