“Application Bus Beam” รู้รถรู้เวลาด้วยสมาร์ทโฟน
ขนส่งภูเก็ต เปิดตัว Application Bus Beam เชื่อมคน เชื่อมรถผู้โดยสารรอรถแบบ”รู้รถ รู้เวลา” สนองนโยบายรัฐ Thailand 4.0 ภาคการขนส่งของประเทศ ในภูเก็ตเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการขนส่ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 6 ราย เตรียมขยายกลุ่มผู้ให้บริการเพิ่ม มั่นใจส่งผลดีทุกฝ่าย ประเดิมด้วยเส้นทางแอร์พอร์ตบัส และเส้นทางระหว่างจังหวัดไปฝั่งอ่าวไทยสามารถตรวจสอบเวลารอรถ “รู้รถ รู้เวลา” ด้วยสมาร์ทโฟนมือถือประจำตัว
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 ธันวาคม 2560เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นประธาน เปิดโครงการพัฒนาการเข้าถึงบริการรถโดยสารประจำทางผ่าน Application Smart Bus Smart Passengers ของสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายบัญญัติ คันธา ขนส่งจังหวัดภูเก็ต,นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต, ผู้ประกอบการขนส่ง และ รถโดยสารสาธารณะ และ สื่อมวลชนเข้าร่วม
ภายหลังพิธีเปิดโครงการฯ ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือระหว่างสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับบริษัท แท็กซี่ บีม จำกัด,บริษัทภูเก็ตมหานคร จำกัด,บริษัทนครบริการขนส่ง จำกัด,บริษัทวาระรัศมีมหาธานี จำกัด,บริษัทพันทิพย์ 1970 จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโอเอสทัวร์ ซึ่งเป็นผู้ปะกอบการที่เข้าร่วมดำเนินโครงการพัฒนาการเข้าถึงบริการรถโดยสารประจำทางผ่านแอพพลิเคชั่นกับผู้ประกอบการขนส่ง โดยการนำ Application Bus Beam ไปใช้เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ในส่วนของรถหมวด 3 หมวด 4 รวม ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางรถหมวด 4 เส้นทางภายในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 เส้นทาง คือเส้นทางสนามบิน – สถานีขนส่งผู้โดยสาร 1 และเส้นทางสนามบิน – ป่าตอง และในส่วนของรถหมวด 3ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดที่ทดลองใช้โดยเชื่อมโยงกันได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และจังหวัดภูเก็ต
นายบัญญัติ คันธา ขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการจัดทำโครงการดังกล่าว ว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต มีแนวคิดและเป้าหมายที่จะให้ผู้โดยสาร หรือ ประชาชนผู้รอใช้บริการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดภูเก็ต ได้รับความสะดวกในการเดินทาง สามารถทราบว่ารถอยู่ที่ไหน ทราบเวลาที่รถจะเดินทางมาถึง ตลอดจนทราบว่ารถเที่ยวที่รอนั้นผ่านไปหรือยัง จึงมีแนวคิดให้มีการเพิ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ และ เป็นการพัฒนาต่อยอดนโยบาย”มั่นใจ ทั่วไทย รถใช้ GPS” เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อประชาชนนักท่องเที่ยวเข้าถึงได้สะดวก เชื่อมคน เชื่อมรถผู้โดยสารรอรถแบบ”รู้รถ รู้เวลา” สามารถตรวจสอบการเดินทางของรถโดยสารประจำทางผ่านสมาร์ทโฟนของตนเองได้
และให้ผู้ประกอบการขนส่งมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่มีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณ ที่จะนำมาปรับปรุงตัวรถและการให้บริการให้ดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์กรมการขนส่งทางบก(การขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพพัฒนาและส่งเสริมระบบการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้),ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และยุทธศาสตร์จังหวัดภูเก็ต(เมืองดิจิทัล:เมืองที่มีความทันสมัยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีการคมนาคมมีความสะดวก)
ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่มีงบประมาณ ปกติสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต จึงได้นำยุทธศาสตร์”ประชารัฐ” เข้ามาใช้เป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนไม่ว่าจะอยู่ในภาคประชาชนภาคธุรกิจหรือภาครัฐมาใช้เป็นพลังอำนาจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา ในการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศในทุกมิติและทุกด้านอย่างยั่งยืน จึงได้นำแนวความคิดและแนวทางดำเนินการไปขอความร่วมมือบริษัท แท็กซี่บีม จำกัด ผู้จัดการแอพพลิเคชั่นในรถแท็กซี่ให้ช่วยทําแอพพลิเคชั่นที่จะใช้ในรถโดยสารประจำทาง และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ขณะที่ นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบัน Mobile Application เป็นส่วนสำคัญเป็นเครื่องมือด้านการบริการและการประชาสัมพันธ์ ที่ทำให้ผู้ใช้ เข้าถึงบริการต่างๆได้ง่าย ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกมีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาระบบบริการของกรมการขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนได้มีความสะดวกและพึงพอใจอย่างสูงสุด และในอนาคตเตรียมที่ขยายการให้บริการให้ครอบคลุมไปยังเส้นทางอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อของจังหวัดสำคัญๆของภาคต่างๆ เพื่อให้เกิดโครงข่ายเส้นทางแอพพลิเคชั่นแบบใยแมงมุม
สำหรับ Application Bus Beam มีความหมายว่า “ลำแสงส่องหารถบัส” สามารถใช้ได้ทั้งในระบบ Android และ IOS โดยดาวน์โหลดใน Play Store และ App Store มีการทดลองใช้ใน 4 เส้นทางคือ 1.เส้นทางในจังหวัดภูเก็ต เส้นทางหมวด 4 จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง Airport – สถานีขนส่งผู้โดยสาร 1 และ 2 และเส้นทาง Airport- ป่าตอง, 2. รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดในรถหมวด 3 ในจังหวัดที่เชื่อมโยงกันในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช,สุราษฎร์ธานีสงขลาและภูเก็ต การเดินทางภูเก็ต-นครศรีธรรมราชมีจำนวน 2 เส้นทางคือภูเก็ต-ทุ่งสง- นครศรีธรรมราช และเส้นทางภูเก็ต-ลานสกา-นครศรีธรรมราช, การเดินทางจากภูเก็ตไปจังหวัดสุราษฎร์ธานีมี 1 เส้นทาง และการเดินทาง จากจังหวัดนครศรีธรรมราชสงขลามี 2 เส้นทางคือ เส้นทางนครศรีธรรมราช- สงขลาและเส้นทางนครศรีธรรมราช- หาดใหญ่ เบื้องต้น Application Bus Beam มีโปรแกรมการใช้งานเป็นภาษาไทยโดยคาดว่าในเดือนมกราคม 2561 จะมีการพัฒนาโปรแกรมเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย
ขณะที่ นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า Application Bus Beam เป็นการนำเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยพัฒนาจังหวัดภูเก็ตสู่เมือง Smart City ให้ภูเก็ตเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกสบายเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนได้อย่างทั่วถึง