DSI ร่วมพยัคฆ์ไพรสนธิกำลัง ลงเลพัง-ลายันตะเพิดผู้บุกรุก
สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกว่า 150 นายลงพื้นที่ หาดเลพัง – ลายัน จ.ภูเก็ต ปิดประกาศแจ้งให้ผู้ครอบครองที่ดินรัฐ กว่า 178 ไร่ ออกพ้นพื้นที่ภายใน 30 วัน บริษัทอิทธิพลรุกหาดจำยอมรับคำพิพากษา คืนที่ดินริมหาด จำนวน 12 ไร่ ให้รัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกรมที่ดินเพื่อแบ่งแยกเขตให้ชัดเจน
จากกรณีศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา คดีที่เอกชนจำนวน 6 ราย ฟ้องรัฐหลังมีการประกาศให้ที่ดินจำนวน 178 ไร่ บริเวณริมหาดเลพัง –หาดลายัน อ.ถลาง ภูเก็ต เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อให้ทุกคนใช้ร่วมกัน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.60 ที่ผ่านมา โดยพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ และ ให้โจทย์จำนวน 6 ราย ออกพ้นจากพื้นที่ดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท. ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท. มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชีวภาพ ชีวะธรรม หน.ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ปลัดจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าอุทยานอุทยานแห่งชาติ สิรินาถ ผู้แทนจากอำเภอถลาง ผู้แทนสำนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตำรวจภูธรตำบลเชิงทะเล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยาน องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม 15 หน่วยงาน พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 150 คน สนธิกำลังลงพื้นที่หาดเลพัง – หาดลายัน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ซึ่งก่อนที่จะลงพื้นที่ ทางอธิบดี DSI ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงภารกิจในการเดินทางมาครั้งนี้ พร้อมแบ่งชุดการทำงาน หลังจากนั้นทางอธิบดี DSI ได้ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามภารกิจที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบด้วยการปักป้าย จำรวน 5 จุด ตลอดแนวที่ดิน เพื่อแจ้งเตือนผู้บุกรุกให้ออกจากพื้นที่ ที่ศาลตัดสินถึงที่สุดให้เป็นที่ดินของรัฐ โดยให้ออกพ้นพื้นที่ สาธารณะ นอกจากนั้นยังมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ภายใน 30 วัน พร้อมทั้งดำเนินการเก็บพยานหลักฐาน และแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เมื่อครบกำหนด หากผู้บุกรุกไม่ออกจากพื้นที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะรับเป็นคดีพิเศษทันที และจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป
พ.ต.อ ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการคดีพิเศษกล่าวว่า การบุกรุกที่ดินบริเวณหาดลายัน และ หาดเลพัง หมู่ที่ 4 และ หมู่ ที่ 6 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ทางพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคดีในพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว ซึ่งประกอบด้วย ออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง รับเป็นคดีพิเศษ 2 คดี ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 20777 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าลายัน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และ โฉนดที่ดินเลขที่ 21047 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ แต่เป็นที่สาธารณะ
จากการตรวจพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยมีสภาพเป็นทะเลมาก่อน และมีถนนเลียบชายหาด ต่อมาได้เกิดแผ่นดินงอกจากชายทะเล พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงมี เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง เป็นผู้ลงนามโดยไม่มีอำนาจ มูลค่าของที่ดินประมาณไร่ละ 70 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 21047 โดยมิชอบ และ มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดดังกล่าว ส่วนอีก 1 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ
และจากการตรวจสอบของทางดีเอสไอ พบว่าว่ามีเอกชนประมาณ 9 ราย ยึดถือครอบครองที่ดินต่อจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งมีทั้งออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบบ้าง ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วบ้าง ครอบครองโดยไม่มีหลักฐานบ้าง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นทะเลมาก่อน จึงไม่มีผู้ใดที่ยึดถือครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี 2497 ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐจะขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ก็ได้ถูกคัดค้านโดยเอกชนจำนวน 9 ราย และนำเรื่องขึ้นสู่ศาล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่าที่ดินจำนวน 178 ไร่ บริเวณหาดเลพัง เป็นที่สาธารณประโยชน์ วันนี้ทางเจ้าหน้าที่จึงสนธิกำลังลงพื้นที่เพื่อปิดประกาศให้ผู้ครอบครองรู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ ผู้บุกรุกจะต้องออกพ้นพื้นที่ภายใน 30 วัน หากไม่ออกจากพื้นที่ทางดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ
อธิบดี DSI กล่าวต่อไปว่า พื้นที่หาดลายันที่มีการบุกรุกนี้มีความยาวตามแนวชายทะเล ประมาณ 2.5 กิโลเมตร เนื้อที่โดยประมาณ 200 ไร่ ซึ่งมีการบุกรุกนอกเหนือจากพื้นที่ 178 ไร่ด้วย รวมผู้ครอบครองประมาณ 15 แปลง มูลค่าการซื้อขายไร่ละ 70 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท การทวงคืนแผ่นดินรัฐจากผู้บุกรุกและบังคับใช้กฎหมายถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะนำกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยการดำเนินการครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บุกรุกได้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว หากยังคงฝ่าฝืนยึดถือครอบครอง ที่สาธารณะไม่ยอมออกจากพื้นที่ ก็จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป การบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคท้องถิ่น รวมถึงพนักงานอัยการที่ร่วมกันต่อสู้คดีจนคดีถึงที่สุด และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้จะต้องกลับมาเป็นสมบัติของประชาชนคนไทยและของชาติ เพื่อจะสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่อต่อไป
ขณะที่ พ.ต.ท. ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลพบว่าการบุกรุกที่ดินริมทะเลบริเวณหาดเลพัง ผู้บุกรุกมีพฤติกรรมเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะอ้างว่า อยู่มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน แต่จากการตรวจสอบการแปลภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าเมื่อปี 2510 ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ ที่มีน้ำทะเลท่วมถึง แต่หลังจากนั้นก็มีที่ดินงอกเพิ่มออกมา ซึ่งที่ดินงอกก็เป็นที่ดินสาธารณะไม่มีใครที่จะมีสิทธิเข้ามายึดถือครอบครองได้ ซึ่งในส่วนของหาดเลพังขณะนี้ศาลติดสินไปแล้ว 1 คดี และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินอีก 1 คดี ส่วนคดี 178 ไร่ทางดีเอสไอยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าประกาศครบกำหนดแล้วทางผู้บุกรุกยังไม่ยอมออกพ้นพื้นที่ทางดีเอสไอจะเข้ามาดำเนินการและรับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทันที
เช่นเดียวกับ นายชีวภาพ ชีวะธรรม หน.ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ กล่าวว่า หลังจากศาลตัดสินให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งเป็นที่ดินตามประกาศกรมป่าไม้ 2484 ไม่สามารถยึดครองได้ หากมีการยึดครองก็จะต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย หากไม่ออกจากพื้นที่ตามกำหนดระยะเวลา
ขณะที่ นายเมธา (สงวนนามกุล) ผู้ดูแลที่ดินของบริษัทเจ้าพระแลนด์ กล่าวถึงกรณี ทางบริษัทการฟ้องร้องกับหน่วยงานภาครัฐ กันมาถึง 3 ศาล ในกรณีที่ดินติดชายทะเล บริเวณหาดเลพัง เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่เศษ ซึ่งศาลฎีกาตัดสินไปเมื่อปี 2559 ว่า มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เศษเป็นที่ดินสาธารณะ ว่า ในส่วนของบริษัทน้อมรับคำตัดสินของศาลและพร้อมที่จะคืนที่ดินจำนวน 12 ไร่ ชายทะเล ให้กับภาครัฐเพื่อเป็นที่สาธารณะต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกมาให้ชัดเจน