Good morning @ Phuket ที่“ศูนย์วชิระ”พ่อเมืองแฮปปี้ ผอ.ขอแรงหนุนขยับไปบางขนุน
กิจกรรม “สวัสดียามเช้า ณ ภูเก็ต” นัดล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2560 ที่รพ.ศูนย์วชิระภูเก็ต จัดให้พ่อเมือง ได้พบปะหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้นำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามงานของส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุบนเขาป่าตอง ตกลงให้แก้ที่วิศวกรรมจราจร ทำผิวจราจรให้ขรุขระ กันรถลื่นไหล และตั้งจุด Check point ก่อนขึ้นเขา เผยด้านท่องเที่ยว มีสายการบินใหม่ของตุรกี จาก “อีสตันบูน”เข้าภูเก็ตอีกสัปดาห์ละ 4 เที่ยว และจะมีการจัดเทศกาลกินกุ้งมังกร ในช่วงกรีนซีซั่น สุดท้ายพ่อเมืองย้ำความปลอดภัยของเรือทัวร์ และท่าเรือต่างๆ ต้องเข้มงวด จากนั้น ผอ.รพ.ศูนย์วชิระ ได้รายงานความพร้อมด้านการแพทย์ และขอแรงสนับสนุนได้การขยายโรงพยาบาลไปสวนป่าบางขนุน ขณะที่พ่อเมืองภูเก็ต ประชุมติดตามงานกับส่วนราชการตามโครงการวาระยามเช้า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข นัดล่าสุด สั่งปศุสัตว์สำรวจแพะในพื้นที่ และให้ผู้เกี่ยวข้องตามเรื่องหาดฟรีด้อมทุกระยะ ส่วนเรื่องการแก้ไขรถบัสเกิดอุบัติเหตุบนเขาป่าตอง ได้ข้อสรุป ให้ตั้งจุด Check point 2 จุด ก่อนขึ้นป่าตอง และที่ด่านท่าฉัตรไชย เช็ครถบัสทุกคันก่อนเข้าเมือง พร้อมอบรมซักซ้อมความเข้าใจเส้นทางรถในพื้นที่ ด้านเกษตรรายงาน การดำเนินงานในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อระเอียดยิบ สุดท้ายพ่อเมือง ย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
เมื่อเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เวลา 08.00 น. นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พบปะหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้นำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้หัวข้อ “สวัสดียามเช้า ณ ภูเก็ต” Good morning @ Phuket ประจำเดือนกรกฎาคม 2560 โดยมี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา, นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
โอกาสนี้ นายแพทย์จิรพันธ์ เต้พันธ์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายแพทย์เฉลิมพล สุคนธผล ผู้ อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับและรายงานบทบาทภารกิจของ กระทรวงสาธารณสุขในการให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขอขอบคุณ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาพบปะพูดคุยร่วมกันพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ขอให้หัวหน้าส่วนราชการลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจะเป็นทีมเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหากมีการแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น จะสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังจนยุ่งยาก อาทิ การจัดการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนสายป่าตองเบื้องต้นจังหวัดได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือมาตรการแก้ไขด้านวิศวกรรมจราจรโดยปรับปรุงถนนให้มีพื้นผิวที่ขรุขระเพื่อป้องกันการลื่นไถลเบื้องต้นจังหวัดสนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาทในการดำเนินการโดยเร่งด่วน และจากข้อมูลของรถที่เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นรถมาจากต่างจังหวัด และส่วนใหญ่เป็นรถที่มีการจดทะเบียนมานานหลายปีแล้ว ทำให้รถมีสภาพเสื่อมโทรมตามระยะเวลาการใช้งาน
ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดมาตรการจัดตั้งจุด Check point ที่ป้อมตำรวจทางขึ้นเขาป่าตอง เพื่อตรวจสภาพรถและคนขับรถก่อนขับขึ้นเขาป่าตอง โดยรถที่ผ่านจุดตรวจจะมีสติกเกอร์ติดเป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้จังหวัดภูเก็ตมีโครงการที่จะพัฒนา Gateway ประตูเมืองจังหวัดภูเก็ตให้เป็นสถานที่จุดพักรถและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงพัฒนาเพื่อให้เป็น แหล่งเรียนรู้ป่าชายเลน สำหรับให้เด็กและเยาวชนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติด้วย
ในส่วนของการพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจะมีโครงการส่งเสริมการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ให้แก่ประชาชนเพราะจากข้อมูลพบว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในจังหวัดภูเก็ตดังนั้นหากประชาชนมีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้เพิ่มขึ้น และโครงการพัฒนาอาชีพโครงการที่ 2 คือโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะแบบครบวงจรเนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรชาวจังหวัดภูเก็ตมีการเลี้ยงแพะเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะแบบครบวงจรโดยทางจังหวัดจะส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงแพะแบบครบวงจร เช่นพัฒนาเป็นศูนย์ เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการตลาดและการแปรรูปผลผลิตจากแพะเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตให้กับเกษตรกร ความคืบหน้าอยู่ในขั้นตอนการสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและจำนวนแพะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้า โครงการตาสับปะรดว่า จะมีการจัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารการทำลายสิ่งแวดล้อมการลักลอบการทิ้งขยะ การลักลอบการปล่อยน้ำเสีย และใช้ในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตด้วย โดยจังหวัดภูเก็ตจะเน้นการบริหารจัดการเมือง เพื่อเข้าสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วย Smart city จึงขอให้หัวหน้าส่วนราชการงานต้องเตรียมฐานข้อมูลให้มีความครบถ้วนชัดเจนเพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวขณะนี้ สายการบิน Turkish Airlines ของตุรกี ได้เปิดเส้นทางบินใหม่จากอิสตันบูล (IST) มายังภูเก็ต (HKT) โดยเที่ยวบินของ Turkish Airlines ได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน (ออกจากภูเก็ต จันทร์ อังคาร ศุกร์ อาทิตย์) ด้วยเครื่องบินรุ่น Airbus A330-300 ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 จังหวัดภูเก็ตกำหนดจัดกิจกรรม Phuket Lobter Festival 2017 ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีและจัดในช่วงจังหวะกรีนซีซั่นถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นสร้างแรงจูงใจด้านการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวได้ตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพิ่มมากขึ้นเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นการเพิ่มมูลค่ากุ้งมังกรด้วยการนำ กุ้งมังกรมาแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันประชาสัมพันธ์งานดังกล่าวให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบด้วย
นายนรภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางจังหวัดได้มีการเรียกผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเรือโดยสารและท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ตเพื่อเป็นการเน้นย้ำในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด ซึ่งเรือทุกลำต้องมีเสื้อชูชีพและเมื่อมีนักท่องเที่ยวใช้บริการก็ต้องมีการให้ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งสำหรับในส่วนของท่าเทียบเรือ ก็ต้องมีการปฏิบัติตามระเบียบของกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองการตรวจสภาพท่ารับส่งคนโดยสาร ท่าเทียบเรือ พ.ศ. 2557 และประกาศกรมเจ้าท่าที่ 37/2558 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสภาพท่าตามระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองการตรวจสภาพท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ พ.ศ. 2557
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวทางน้ำในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ทางจังหวัดภูเก็ตกำลังเตรียมนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ตามท่าเรือและเรือโดยสารทุกชนิด ซึ่งในอนาคตผู้โดยสารที่ใช้บริการเรือท่องเที่ยวต้องมีข้อมูลของนักท่องเที่ยวทุกคนที่ใช้บริการและจะนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการดูแลรักษาความปลอดภัยเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต่อไป
ด้าน นายแพทย์เฉลิมพล สุคนธผล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีความพร้อมในการให้บริการประชาชน ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญ ในด้านสาธารณสุข อาทิ มีหมอผ่าตัดด้านหัวใจจำนวน 2 ท่าน หมอผ่าตัดด้านสมองจำนวน 4 ท่านและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆรวมกว่า 120 ท่าน
นอกจากนี้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตยังมีการให้บริการเชิงรุกโดยมีรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วด้วย สำหรับปัญหาอุปสรรคของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตคือการขาดแคลนพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารสถานที่ในการที่จะขยายการบริการให้กับประชาชนได้อยากครอบคลุม จึงอยากให้จังหวัดช่วยสนับสนุนหาพื้นที่ในการก่อสร้าง อาทิในพื้นที่สวนป่าบางขนุน เป็นต้น
สำหรับ กิจกรรม“สวัสดียามเช้า ณ ภูเก็ต” ในครั้งนี้ โรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ตได้จัดกิจกรรมให้บริการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดตามฤดูกาลให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและส่วนราชการที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
วาระยามเช้าในจวนได้ข้อสรุป
แก้อุบัติเหตุรถบัสทัวร์ซ้ำซาก
ให้ตั้งจุด“Check point” 2จุด
เมื่อเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 07.30 น. ที่ห้องประชุมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมติดตามงานกับหัวหน้าส่วนราชการฯตามโครงการวาระยามเช้า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยมี นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ติดตามประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ การดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงแพะแบบครบวงจร ขอให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ตเร่งสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงแพะและจำนวนแพะให้ชัดเจนเพื่อนำมาวางแผนการส่งเสริมการเลี้ยงแพะต่อไป
สำหรับผลการติดตามเรื่องร้องเรียนหาด ฟรีด้อม ความคืบหน้าขณะนี้ ผู้ครอบครองหาด ฟรีด้อม ได้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลปกครองให้การคุ้มครองชั่วคราว โดยขณะนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาลปกครอง ทั้งนี้ขอให้ที่ดินจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานสังกัดกรมป่าไม้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิด และรายงานผลให้ทางจังหวัดรับทราบต่อไป
ส่วนความคืบหน้า เรื่องการแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุ บริเวณเขาป่าตอง และในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เบื้องต้น สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต ได้กำหนดแผนในการแก้ไขปัญหา โดยกำหนด มาตรการ เร่งจัดตั้งจุด Check point เพื่อตรวจสอบความพร้อมด้านตัวรถและผู้ขับรถ จะดำเนินการใน 2 จุด คือ จุดที่ 1 บริเวณจุดตรวจป้อมตำรวจทุ่งทองทางขึ้นเขาป่าตอง โดยดำเนินการจัดทำระบบโปรแกรมได้รวบรวมข้อมูลด้านทะเบียนรถเพื่อเป็นฐานข้อมูลของระบบการตรวจรถ, ตรวจสภาพรถบัสทุกคันที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต 1,199 คัน, มีสติ๊กเกอร์รับรองผลการตรวจสภาพพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณไว้ในตัวรถ, กำหนดจราจรเป็นช่องบัสเลนส์โดยเฉพาะ 1 ช่อง เพื่อตรวจสอบรถบัสโดยสารขาขึ้นเขาป่าตอง, ติดตั้งอุปกรณ์อ่านข้อมูลกล้อง CCTV ที่บริเวณป้อมจุดตรวจ, จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเพื่อการตรวจสอบโดยใช้พนักงานจราจร ในกรณีรถไม่ผ่านการรับรองต้องมีการขนถ่ายผู้โดยสารด้วยรถโดยสารขนาดเล็กต่อไป และจุดที่ 2 จุดตรวจบริเวณ Gate way ด่านท่าฉัตรไชย กรณีกลุ่มรถจดทะเบียนต่างจังหวัด โดยจะแบ่งเลนส์ ตรวจรถบัสที่มาจากต่างจังหวัดเพื่อตรวจสอบคัดกรอง ตัวรถในเบื้องต้น กรณีพบรถที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่มั่นคงแข็งแรง หรือมีอายุการใช้งานที่เห็นว่าไม่มีความปลอดภัย ให้นำรถเข้ารับการตรวจสภาพเป็นกรณีเฉพาะที่สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตโดยจัดช่างตรวจสภาพรถ(ภาคเอกชน)ประจำอย่างจุดตรวจสภาพรถอย่างน้อย 2 คนโดยมีการผลัดเปลี่ยนเวรกัน พร้อมออกสติ๊กเกอร์รับรองผลการตรวจสภาพ และติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณไว้ในตัวรถ
ส่วนด้านคนขับจะมีการอบรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเส้นทางบริเวณเขาป่าตองและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดภูเก็ตโดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำห้องอบรมให้ข้อมูลแก่พนักงานขับรถ ทั้งนี้ทางจังหวัดภูเก็ต จะดำเนินการจัดทำประกาศเจ้าพนักงานจราจรจังหวัดภูเก็ตเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมรถบัสที่จะผ่านขึ้นเขาป่าตองเพื่อกำหนดคุณสมบัติของรถบัสที่อนุญาตให้ผ่านขึ้นเขาป่าตองได้
จากนั้น นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรือโดยสารสาธารณะ และ เรือยอร์ช ขอให้มีการจัดทำฐานข้อมูล ของเรือท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยให้มีข้อมูลออนไลน์เพื่อตรวจสอบได้ว่าในเรือดังกล่าว มีจำนวนนักท่องเที่ยวกี่คนจอดอยู่ในจุดใดของทะเลจังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจะต้องเชื่อมโยงกัน ให้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต บูรณาการข้อมูลและระบบการทำงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภูเก็ต (DEPA) และให้มีการพัฒนาริสแบน เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามข้อมูลนักท่องเที่ยวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือสูญหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอกาสนี้ นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานความคืบหน้าโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน น้อมนำหลักการทฤษฏี และแนวทางการแก้ปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ มีเป้าหมายทั่วประเทศ 9101 ชุมชน งบประมาณชุมชนละ 2.5 ล้านบาท ในส่วนของ จังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในทุกอำเภอรวม 16 ตำบล 21 ชุมชน ได้รับงบประมาณ 59 โครงการ วงเงินรวม19,724,700.-บาท ประกอบด้วย อำเภอเมือง 8 ชุมชน 12 โครงการ งบประมาณ 3,639,100.-บาท ,อำเภอกะทู้ 3 ชุมชน 12 โครงการ งบประมาณ 3,416,300.-บาท และอำเภอถลาง 10 ชุมชน 35 โครงการ งบประมาณ 12,669,300.-บาท
สำหรับ โครงการ 9101 มีนัยยะสำคัญ ดังนี้ 9 หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ(ร.9), 10 หมายถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร(ร.10) และ 1 หมายถึงปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นโครงการตามรอยพ่อว่าจะทำให้การเกษตรยั่งยืนขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรจะเรียนรู้ พึ่งพาตัวเองจากเงินตั้งต้นส่วนนี้ จากนั้นถ้าได้ผลผลิตล็อตนี้มา ก็ให้เกษตรกรบริหารจัดการกันเอง เช่นการตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารสินค้าและรายได้กันเอง ทั้งนี้ในภาพรวมระดับประเทศโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง โดยในโครงการเกษตรกรจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบ 8 ด้าน ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การทำปาล์มชุมชน การเลี้ยงสัตว์เล็ก การทำประมง และการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งแต่ละชุมชนสามารถเลือกทำโครงการที่ต้องการได้
สุดท้าย นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวมอบนโยบายแก่หัวหน้าส่วนที่เข้าประชุมติดตามงานกับส่วนราชการตามโครงการวาระยามเช้า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ว่า ทุกโครงการที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิด และเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด