PKRU EXPERT : ดร.อทิพันธ์ เสียมไหม ใช้ข้าวกล้องพื้นถิ่นอันดามันเพาะเห็ดถังเช่า ผลิตน้ำสมุนไพรสกัดเข้มข้น
เทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังได้รับความนิยมจากคนทุกช่วงวัย ทั้งในรูปแบบของการออกกำลังกาย และการทานอาหารเสริม ซึ่งถูกมองว่าเป็นทางลัดเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของผู้บริโภค เพราะอาหารเสริมเหล่านั้นผ่านการสกัดสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายในปริมาณที่สูง แต่ทว่าผู้บริโภคจะสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่และน่าเชื่อถือได้อย่างไร ในขณะใครต่อใครล้วนสามารถกล่าวอ้างสรรพคุณได้อย่างสวยหรู
ทีมงาน PR PKRU ได้พูดคุยกับ PKRU EXPERT : ดร.อทิพันธ์ เสียมไหม อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร ผู้ประสานงานศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอันดามันและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ราชภัฏภูเก็ต นักวิจัยคนเก่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มน้ำถั่งเห็ดถังเช่าพร้อมบริโภค “A-CORDY” ที่ผลิตจากสมุนไพรเห็ดถังเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) ดร.อทิพันธ์ นำทีมงานเยี่ยมชมปฏิบัติการและอธิบายถึงกระบวนการศึกษา ทดลอง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงเป็นคำตอบที่ว่าหากจะเลือกรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การคำนึงถึงที่มาของผู้ผลิตและงานวิจัยที่รองรับมีความสำคัญและเป็นองค์ประกอบหลักที่ผู้บริโภคต้องพิจารณา
เฟ้นหาสมุนไพรทำเงินเพื่อท้องถิ่น “เห็ดถังเช่า พันธุ์สีทอง”
ดร.อทิพันธ์ กล่าวถึงที่มาของการศึกษาเห็ดถังเช่าว่า สืบเนื่องด้วย มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลักในการช่วยพัฒนาท้องถิ่น คณะเทคโนโลยีการเกษตร โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหารและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอันดามัน มีความพร้อมในด้านองค์ความรู้การวิจัย บุคลากร เครื่องมือและห้องปฏิบัติการระดับมาตรฐานสากล จึงเลือกศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีราคาแพงและได้รับความนิยมในระดับสากล จึงได้ศึกษาการผลิตเห็ดถังเช่าสีทอง โดยวิธีการคัดเลือกสายพันธุ์ ศึกษาวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดถังเช่าซึ่งเป็นยาอายุวัฒนะของชาวจีนที่มีมาแต่อดีต เป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยปรับสมดุลให้แก่ร่างกาย ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินมากมาย มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ในร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง บำรุงไต ตับ ช่วยระบบไหลเวียนเลือดแข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ทั้งนี้เห็ดถังเช่าสามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้ในราคาระดับหลายหมื่นบาทถึงแสนบาทต่อกิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับคุณภาพ) นั่นหมายถึงว่าเห็ดถังเช่าเป็นสมุนไพรที่มีราคาและมูลค่าสูง จึงเหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตสู่วิสาหกิจชุมชนหรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่สนใจ
เจาะเคล็ดลับผลิตภัณฑ์ถังเช่าคุณภาพสูง
สาเหตุที่เห็ดถังเช่า มีราคาสูงเนื่องจากมีกระบวนการเพาะและดูแลหลายขั้นตอน จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้ดูแล และมีสถานที่ได้มาตรฐาน ปลอดเชื้อ โดยใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 3 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ วิธีการในการผลิตประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้ 1. เตรียมแหล่งอาหาร (ข้าวกล้อง) 2. ถ่ายหัวเชื้อเห็ดถังเช่าลงในขวดแก้วปลอดเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยง 3. เลี้ยงในบริเวณที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียสโดยมีการให้แสงสว่าง 4. เก็บเกี่ยวเเล้วอบแห้งเป็นชาหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดถังเช่าพร้อมบริโภค จุดเด่นของการเพาะเลี้ยงเห็ดในระบบปิดที่มีการควบคุมคุณภาพเช่นนี้จะทำให้ได้รับผลผลิตที่สมบูรณ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเห็ดถังเช่าที่สามารถผลิตได้มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ต้องการ (Cordycepin) อยู่ที่ประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมตัวอย่าง ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในระดับ “คุณภาพสูง” หากเทียบกับเห็ดถังเช่าที่วางจำหน่ายในท้องตลาด โดยผลลัพธ์ที่น่าพอใจดังกล่าวเกิดจากองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่นักวิจัยของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้ทดลองและศึกษาการใช้ข้าวกล้องพันธุ์หอมเจ็ดบ้าน ซึ่งเป็นข้าวพื้นถิ่นที่ปลูกในจังหวัดฝั่งอันดามัน ด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสมในตัวข้าวกล้องจึงทำให้การเพาะเห็ดถังเช่าได้เจริญงอกงาม และจากการคิดค้นสูตรอาหารและวิธีการในการเพาะเลี้ยงดังกล่าว ส่งผลให้เห็ดถังเช่าสามารถผลิตสารคอร์ไดเซปิน (Cordycepin) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพตัวหลักได้ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นที่มาของคุณภาพในผลิตภัณฑ์นั้นเอง ผอ.สถาบันวิจัย กล่าวถึงขั้นตอนการผลิต A-CORDY
สร้างโอกาส สร้างอาชีพ เพื่อคนท้องถิ่น
นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างโอกาสให้กับคนในท้องถิ่นอันดามันมีหลากหลายประเภทที่สามารถสร้างรายได้ แต่สิ่งที่ทีมนักวิจัยของเราให้ความสำคัญควบคู่กับราคาของผลผลิต คือคุณค่าของพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ ว่าจะสามารถยืนหยัดอยู่ในท้องตลาด มีความยั่งยืน และสามารถขยายขอบเขตการทำตลาดไปได้มากเพียงใด ซึ่งเห็ดถังเช่า เป็นพืชสมุนไพรที่เหมาะสมให้ผู้ที่สนใจในท้องถิ่นในระดับ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจตามสเกลความพร้อมที่ต้องการ ในส่วนของมหาวิทยาลัยมีความยินดีที่จะถ่ายทอดเทคนิค วิธีการ และขั้นตอนต่างๆ ในการผลิต และพร้อมเปิดสถานที่ให้ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองจากการทำการเกษตรในยุคใหม่ที่ส่งเสริมให้เป็นเกษตรกรเป็น “Smart Farmer” หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” ตอบสนองการพัฒนาในยุค “Thailand 4.0” โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้มีความยั่งยืนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตที่ว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปฏิบัติภารกิจบนพื้นฐานแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม” โดยมีเอกลักษณ์คือ “เป็นสถาบันอุดมศึกษาให้บริการวิชาการแก่สังคม” นั่นเอง ดร.อทิพันธ์ ได้เน้นย้ำถึงปรัชญาและเอกลักษณ์ของ ม.ราชภัฏภูเก็ต