SciTech PKRU ร่วมด้วยช่วยกันรับใช้สังคม โซ่แห่งคุณค่าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ “กลุ่มเพื่อนแพะ”

         หนึ่งในพันธกิจมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ด้านการบริการวิชาการแก่สังคมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่สามารถนำประโยชน์จากการดำเนินงานมาสู่การสร้างคุณภาพชีวิตและยกระดับของคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถนำพันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ ทั้งการบริการวิชาการ การวิจัย การจัดการเรียนการสอน มาบูรณาการร่วมกัน จะช่วยให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถนำผลไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และผลการดำเนินงานบูรณาการที่ได้ดำเนินงานก่อให้เกิดคุณค่า (Value) รวมถึงเกิดการพัฒนาเป็นไปในแนวทางสู่ความอย่างยั่งยืน (Sustainability)

        คณะทำงาน สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต SciTech PKRU เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการบูรณาการพันธกิจในข้างต้น จึงได้ร่วมกับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล รับฟังโจทย์ความต้องการของกลุ่มฯ นำมาสู่การบริการวิชาการและโจทย์ปัญหาวิจัย ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2559 ดำเนินการออกแบบจัดทำกิจกรรม กระบวนการต่างๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาวิจัย จนได้ข้อสรุปผลงานวิจัยเรื่อง ร่วมด้วยช่วยกัน สร้างความเชื่อมโยง “โซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ กรณีศึกษา: กลุ่มเพื่อนแพะ (ผู้เลี้ยงแพะ) จังหวัดภูเก็ต” โดยนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research หรือ PAR) รวมถึงทฤษฎีทางวิชาการ เครื่องมือวิจัยในสาขาวิชาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ

       บทความวิจัยชิ้นดังกล่าวได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based Development Research Journal) และได้รับเกียรติให้ขึ้นปกในวารสาร ฉบับที่ 1 ปีที่ 10 ปี พ.ศ. 2561 (เครดิตภาพหน้าปกโดยงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) วารสารดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่มที่ 1 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://abcjournal.trf.or.th หรือเข้าดูสกู๊ปพิเศษย้อนหลัง ตอน แพะนม จังหวัดภูเก็ด ด้วยการนำแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมประยุกต์กับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะนม จังหวัดภูเก็ต ผ่านทางช่องอมรินทร์ทีวี 34 รายการ Most Station (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

         สำหรับการทำงานในระยะต่อไป คณะทำงานฯ มุ่งมั่นที่จะนำความรู้ของคณาจารย์และพลังของนักศึกษาร่วมกับนักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐและการดำเนินงานร่วมกับนักวิจัยที่เป็นชุมชนเจ้าของพื้นที่ ทั้งกระบวนการทางสังคม กระบวนการทางวิชาการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมแก้ปัญหาของชุมชนและคาดหวังว่าผลลัพธ์การดำเนินงาน (Output) ดังกล่าว จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น (Outcome) มีผลกระทบ (Impact) ในเชิงบวกและเป็นไปในแนวทางสู่ความยั่งยืน (Sustainability) นำไปสู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะชนในวงกวัาง เช่น แนวทางการแก้ปัญหา นโยบายแห่งรัฐฯ หรือการนำไปใช้ประโยชน์ด้านแผนงานต่างๆ รวมถึงการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตแก่คนในชุมชน รวมถึงการนำการบูรณาการพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตสู่สังคม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ด้วยวิธีการเปลี่ยนจากการดำเนินงานในรูปแบบของงานบริการวิชาการหรืองานอาสาสมัครสู่การทำงานร่วมกับภาคีในพื้นที่ ที่เป็นหุ้นส่วนระยะยาวและหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริงของของสังคม